Abstract
วัตถุประสงค์: บทความวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษากลวิธีทางภาษาในการนำเสนอภาพลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ของประเทศไทย
วิธีการศึกษา: ผู้วิจัยศึกษาจากหนังสือ 2 เล่มที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระราชวงศ์ไทยที่เมืองโลซานน์ เขียนโดย เกลอง เซ. เซราอีดาริส รวบรวมโดยบุตรชายของเขา คือ ลีซ็องดร์ เซ. เซราอีดาริส และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทย เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขียนโดย โอลีวีเย กรีวา
ผลการศึกษา: ผู้วิจัยพบประเด็นการนำเสนอภาพลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหารราช บรมนาถบพิตร รวม 3 ประเด็น ได้แก่ 1) พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพ 2) พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยวัตรเรียบง่าย และ 3) พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักและเคารพบูชา ผ่านกลวิธีทางภาษาโดยการใช้พหุโฆษะ สัมพันธบท และสัมพันธสาร รวมถึงการใช้คำอรรฆวิทยาหรือแสดงคุณค่า และการใช้โวหารภาพพจน์ ทั้งนี้ เพื่อยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ของประเทศไทย
การประยุกต์ใช้: ผลการศึกษาในงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของชาวสวิสที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านกลวิธีทางภาษาที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำทฤษฎีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้เพื่อศึกษาภาพลักษณ์ในเรื่องอื่นได้ต่อไป